- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 1 เตรียมพร้อมออกเดินทาง
- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 2 [Day1] Mtskheta & Gori เมืองแห่งประวัติศาสตร์
- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 3 [Day 2] Tbilisi นี่หรือเมืองหลวง
- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 4 [Day 3] Kazbegi ชมเทือกเขาคอเคซัส
- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 5 [Day 4] Mestia นี่คือสวรรค์
- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 6 [Day 5-7] Kutaisi เมืองแห่งความวุ่นวาย
- [Georgia] ประเทศจอร์เจีย เที่ยวแบบประหยัด…. ตอนที่ 7 [Day 8] Bad dream in Tbilisi
สวัสดีครับทุกคน วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ นั่นคือ การท่องเที่ยวดินแดนรอยต่อของทวีปยุโรปและเอเชีย ที่มีเทือกเขาคอเคซัสอันสูงชัน นั่นคือ ประเทศจอร์เจีย (อาจจะฟังดูคล้ายรัฐจอร์เจียของสหรัฐฯ แต่จริงแล้วอยู่คนละที่กันนะครับ)
ข้อมูลทั่วไป
จอร์เจีย เป็นประเทศในแถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) ติดกับทะเลดำ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ก้ำกึ่งระหว่างยุโรปตะวันออก และเอเชียตะวันตก มีอณาเขตติดต่อกับประเทศตุรกี อาเมเนีย อาเซอร์ไบจัน และรัสเซีย (แต่จอร์เจีย อยากเข้าร่วม EU ขนาดว่ามีธง EU ประดับอยู่คู่ธงชาติจอร์เจีย ทั่วเมือง)
- ทิศเหนือ จรดพรมแดนรัสเซีย
- ทิศตะวันออก จรดพรมแดนอาเซอร์ไบจาน
- ทิศใต้จรดพรมแดนอาร์มีเนีย และตุรกี
- ทิศตะวันตก ติดชายฝั่งทะเลดำ
ทริปนี้เราเดินทางกันทั้งหมด 8 วัน มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 30,000 บาท (รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ซึ่งถือว่าเป็นการเที่ยวที่สามารถประหยัดงบประมาณไปได้มาก
ผู้ร่วมเดินทาง จำนวนคนเดินทาง 3 คน
เป้าหมาย ท่องเที่ยวอย่างประหยัด และเปิดมุมมองใหม่
เหตุผลที่เลือกจอร์เจีย
- ไม่ต้องใช้วีซ่า (สำหรับคนไทย) (ฟรีวีซ่าถึง 365 วัน)
- ค่าครองชีพ ใกล้เคียงกับประเทศไทย (ประหยัดงบประมาณ)
การเดินทาง พวกเราเดินทางกันด้วยสายการบิน Gulf Air (ต่อเครื่องที่ประเทศบาห์เรน) ราคา 21,000 บาท/คน (จองตั๋วปลายกันยายน – ก่อนการเดินทาง 3 เดือน)
แต่เพื่อนเราที่ตามไปด้วย สามารถสอยมาได้ในราคา 18,000 บาท/คน (จองตั๋วปลายเดือนตุลาคม – ก่อนการเดินทาง 2 เดือน) แสนช้ำใจ 3,000 บาท ได้ค่าที่พักทุกวันเลย
หากอยากประหยัดเต็มที่ อาจจะรอโปรโมชั่นของสายการบินที่อาจจะลดลงไปได้ถึง 18,000 บาท แต่โดยปกติก็จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท
ข้อมูลอื่น ๆ :
จากประเทศไทยไม่มีสายการบินตรง ต้องเปลี่ยนเครื่องอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยสารการบินที่สามารถลองเข้าไปสำรวจราคา มีดังนี้
- สายการบิน Air astana ของประเทศคาซัคสถาน
- สายการบิน Gulf Air ของประเทศบาห์เรน
- สายการบิน Turkish Airlines ของประเทศตุรกี
- สายการบิน Qatar airways ของประเทศการ์ตา
- สายการบิน Ukraine International ของประเทศยูเครน
- สายการบิน Aeroflot ของประเทศรัสเซีย
- สายการบิน Emirates ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (operate by flydubai จาก ดูไบ – ทบิลิซี่)
- สายการบิน Fly dubai ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Low cost)
Itinerary
- Day 0 : 24 ธ.ค. 2560 เดินทางด้วยสายการบิน Gulf Air (BKK-BAH-TBS) (รีวิวประสบการณ์จาก Gulf Air จะตามมาทีหลังนะครับ)
- Day 1 : 25 ธ.ค. 2560 one-day trip เมือง Mtskheta (Svetitskhoveli Cathedral & Jvari Monastery & Samtavro Monastery) – และเมือง Gori (Stalin museum & Gori Fortress & Uplisikhe)
- Day 2 : 26 ธ.ค. 2560 City tour เมือง Tbilisi (Sufur Baths & Botanical Garden & Georgian National museum – Tbilisi city)
- Day 3 : 27 ธ.ค. 2560 one-day trip เมือง Stepantsminda (Kazbegi) (Anauri & Gudauri & Kazbegi & Kuro mountain) – เดินทางสู่เมือง Zugdidi ด้วย Night train
- Day 4 : 28 ธ.ค. 2560 Mestia นี่แหละคือสวรรค์ ****
- Day 5 : 29 ธ.ค. 2560 one-day trip เมือง Kutaisi (Bagrati Cathedral)
- Day 6 : 30 ธ.ค. 2560 one-day trip เมือง Kutaisi (Sataplia, Prometheus, Martvili, Oketsu Canyon)
- Day 7 : 31 ธ.ค. 2560 half-day trip เมือง Kutaisi (Gelati church trip) – Tbilisi (Narikala Fortress)
- Day 8 : 1 ม.ค. 2561 Bad Dream in Tbilisi
- Day 9 : 2 ธ.ค. 2561 Qatar airways TBS-DOH-BKK
สนามบิน Tbilisi International Airport
– สนามบินมีขนาดเล็กมาก (น่าจะเล็กกว่าดอนเมือง)
– ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) : คนน้อย อาจเพราะเป็นไฟลท์เช้า ทางตม. ไม่ถามอะไรมากมาย (ถามแค่ว่า Travel? แล้วก็ให้ผ่านอย่างง่ายดาย) มาถึงก็รอกระเป๋าใช้เวลารอนานเหมือนกัน
– ร้านแลกเงิน : ควรแลกเงินที่สนามบินเล็กน้อย เพื่อซื้อ SIM card และใช้เดินทางเข้าเมือง เนื่องจากอัตราแลกเงินในเมืองดีกว่าที่สนามบินมาก (ในเมืองมีร้านแลกเงินมากมายตามแหล่งท่องเที่ยว ไม่ต้องกลัวว่าจะหาร้านไม่ได้ หาง่ายกว่าร้านอาหารอีก) โดยเมื่อรับกระเป๋าออกมาแล้ว ก็จะเห็นร้านแลกเงินอยู่หลายร้าน สามารถเทียบเรทราคาที่เราสนใจได้เลย ปกติร้านแลกเงินจะโชว์เป็นเรท สกุลเงิน Lari เช่น USD 2.527 (หมายถึง 1 USD = 2.527 GEL)
– แนะนำให้แลกเงินจากที่ไทยไว้เป็นสกุลเงิน USD, EUR , RUB (รูเบิล รัสเซีย) และไม่จำเป็นต้องแลกครั้งเดียว ค่อยๆทยอยแลกก็ได้ ค่าเงินเปลี่ยนแปลงทุกวัน
– เรทเงินตกประมาณ 1 Lari (GEL) = 13-14 บาท (THB)
– ร้านขายซิมที่สนามบิน : หลังจากรับกระเป๋าออกมาแล้ว เมื่อมองไปด้านขวา จะเจอร้านขาย SIM card อยู่ ช่วงที่เราไปเจ้าสีแดง(Magti) มีคนใช้บริการค่อนข้างเยอะ และเจ้าสีเหลือง(Beeline) ปิด เนื่องจากยังเช้าอยู่ สุดท้ายไม่ได้ซื้อ เลือกที่จะใช้ Offline map แล้วไปซื้อในเมือง
เราซื้อจากร้าน official shop ของเจ้าสีม่วง (Geocells) ได้ในราคา 20 GEL ใช้งานได้ 15 วัน internet 2 GB (เติมได้) โทรในประเทศฟรี และโทรต่างประเทศได้ 30 นาที สัญญาณดี มีแค่ช่วงขึ้น mestia ที่เป็น edge นอกนั้นครอบคลุมหมด (แนะนำให้สอบถามวิธีการโทรออกต่างประเทศ เนื่องจากเรามีเหตุจำเป็นต้องโทร แต่เราไม่สามารถใช้งานได้ อาจจะต้องมีการกดรหัสที่เราไม่ทราบ)
– ร้านขายซิมในเมือง แนะนำให้ซื้อกับร้าน official shop เพราะเจ้าหน้าที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ ลักษณะหน้าร้านจะคล้ายๆกับ dtac AIS ที่มีมือถือวางขาย อันนั้นหละ เข้าไปเลย ไม่ใช่ร้านขายมือถือธรรมดา หาร้าน official ได้บนถนน shota Rustaveli Ave
- เจ้าสีแดง MagtiCom
- เจ้าสีเหลือง Beeline
- เจ้าสีม่วง Geocell
ข้อมูลเพิ่มเติม Prepaid Sim at Georgia
แนะนำเพิ่มเติม ให้โหลด offline map มาไว้ก่อนตั้งแต่ที่เมืองไทย โดยเราแนะนำ คือ Offline map ของ Google เอง และ Apps Maps.me
การเดินทางเข้าเมือง มีอยู่ 3 วิธีหลักๆ
- Taxi คือด่านแรกที่มารอรับเราตั้งแต่ด้านใน ก็จะเกิดการหว่านล้อมเพื่อให้ได้ลูกค้ากันไป พวกเราลองศึกษามาแล้วการนั่งแทกซี่เหมาเข้าเมือง ราคาควรอยู่ที่ประมาณ 25 GEL/เที่ยว เท่านั้น ออกมาถึงก็มีแทกซี่มารอเลย เมื่อเราสอบถามราคาได้ที่ 40 Lari เราเลยลองต่อราคาเหลือ 25 Lari เขาก็ปฏิเสธ เราจึงบอกว่าเราจะไปรถเมลล์ คนขับแทกซี่ก็บอกว่า ตอนนี้รถเมลล์ไม่มีนะ คุณต้องรอ 2 ชั่วโมง แล้วอากาศก็หนาวมาก (แต่ที่เราศึกษามาก็คือรถเมลล์มีทุก 30 นาที) เราจึงปฏิเสธ และเดินไปยังป้ายรถเมลล์ มีเจ้าอื่นมาเสนอในราคา 30 Lari เราก็ยังต่อเหลือ 25 Lari แต่ไม่มีคนรับข้อเสนอ เราจึงเดินต่อไป ประจวบเหมาะกับรถเมลล์มาพอดี เราเลยกึ่งเดินเพื่อไปให้ทันรถเมลล์ (พี่แทกซี่ก็ขับรถตามมาพยายามจะเรียกพวกเรา แต่ ณ จุดนั้น รถเมลล์มาแล้วจ้า ประหยัดเงินสิจะรออะไร ไม่สนใครทั้งนั้น ไหนว่าต้องรอ 2 ชั่วโมง โกหกกันนิ)
- Bus รถเมลล์ที่วิ่งเข้าเมืองมีเพียงสายเดียวคือ สาย 37 ให้บริการ 24 ชั่วโมง ทุกวัน มีทุก 30 นาที ป้ายรถเมลล์อยู่หน้าอาคารผู้โดยสารขาเข้า (ออกจากประตูผู้โดยสารขาออก แล้วเดินไปทางขวา อีกอาคารคือผู้โดยสารขาเข้า มีป้ายรถเมลล์เห็นเด่นชัด) ซึ่งที่สนามบินไม่ใช่ท่ารถเมลล์ ดังนั้นรถเมลล์จะไม่จอดรอ คือ เมื่อขับเข้ามาจอดป้าย ผู้โดยสารขึ้น-ลงเรียบร้อยก็ออกทันที (ไม่แน่ใจว่ามีตารางเวลาแน่ชัดไหม) ค่าโดยสารคนละ 0.5 Lari สามารถจ่ายเป็นบัตรโดยสาร หรือเหรียญก็ได้ (ที่สนามบินไม่น่าจะมีขายบัตรโดยสาร) ดังนั้นต้องมีเงินเหรียญ *** แนะนำว่า ให้แลกเงินจากร้านแลกเงิน ลองคำนวณให้ได้เป็นเหรียญ หรือขอเขาแลกเหรียญมาก็ได้ ตู้อัตโนมัติไม่มีทอนนะครับ ต้องจ่ายพอดี (อยู่ตรงประตูกลางบนรถ) ตอนเราขึ้นไปไม่รู้อยู่ตรงไหน ผู้โดยสารก็ใจดีช่วยเราเรียบร้อย กดปุ่มให้ และหยอดเหรียญให้ เครื่องนั้นจะออกตั๋วมาให้ด้วย (แอบสังเกต จะมีปุ่ม แค่สองปุ๋ม ถ้าไปสามคน เราก็ปุ่มล่าง 2 ครั้ง ราคาจะเปลี่ยนเป็น 1.5 Lari)
รถเมลล์จะจอดสถานที่สำคัญของนักท่องเที่ยว คือ
- ป้ายสถานที่ใต้ดิน Avlabari (พวกเราพักที่ Old Tbilis ต้องลงที่ป้ายนี้ แล้วเดินลงเขานิดหน่อย อีก 10 นาที)
- ป้าย Liberty square ที่เป็นจุดมุ่งหมายหลักของเหล่านักท่องเที่ยว
- ป้ายบนถนน Rustabeli Ave
- Train รถไฟไม่ใช่ยานพาหนะที่นิยมนัก เนื่องจากมีเพียงวันละ 2 เที่ยวเท่านั้น ในราคา 0.5 Lari เช่นกัน โดยมีรอบดังนี้
- Airport-Tbilisi 8:45 AM และ 6:05 PM
- Tbilisi-Airport 7:55 AM และ 5:20 PM
- จุดหมายปลายทางคือ Tbilisi Central หรือ สถานีใต้ดิน Station square
ข้อควรรู้
- เนื่องจากเป็นฤดูหนาว ทำให้ที่จอร์เจียสว่างช้า พระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 8:00 น. และทำให้คนที่นี่เริ่มต้นวันใหม่ช้าเช่นกัน 9:00 น. ถึงจะเริ่มทำงานกัน ดังนั้นเราเข้าเมืองไปในตอนเช้า จะพบว่าเมืองเงียบมาก ไม่มีผู้คนออกมาเดินเพ่นพ่าน อาจจะยากสักนิดหากจะต้องถามทางใครสักคน และที่พักหลายที่จะเริ่มเสิร์ฟอาหารเช้ากันเวลา 9:00 น. (ซึ่งเป็นเวลา 12:00 น. บ้านเรา นั่นคือ หิวมาก) ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าหากเป็น ฤดูร้อน เขาจะเริ่มงานกันเมื่อไหร่
- หากต้องการใช้บริการแทกซี่ เหมาอย่างเดียว (แทบจะไม่มีแทกซี่มิเตอร์) และรถแทกซี่ ไม่มีป้ายว่า Taxi เป็นเหมือนรถยนต์ธรรมดา หากต้องการใช้บริการ เดินงงๆ เดี๋ยวจะมีคนมาถามเราเองว่าต้องการแทกซี่ไหม (หาไม่ยาก) และควรศึกษาราคามาคร่าวๆว่าที่ที่เราจะเดินทางนั้น ควรจะราคาประมาณเท่าไหร่ ให้เสนอราคาไปเลย หากไม่พอใจก็เดินออกมาเลย (ส่วนใหญ่เขาจะมาง้อเราเอง ถ้าไม่ต่อราคาจนโหดมากเกินไป) และแนะนำให้สื่อสารราคาโดยการ เขียนลงบนกระดาษ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน (ไม่มีมามั่วนิ่มทีหลัง)
- Taxi ที่นี่รับผิดชอบ ไม่ทิ้งผู้โดยสาร ไม่ต้องกลัว ส่วนใหญ่แทกซี่จะขอเงินเราเป็นค่าเติมน้ำมันก่อน (หากเดินทางออกนอกเมือง) และจ่ายส่วนที่เหลือเมื่อเดินทางถึงที่หมาย และหากเป็นทริปที่ต้องเดินทางไป-กลับ แทกซี่จะรอเรา ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะทิ้ง และส่วนใหญ่หากเหมาทั้งทริป จ่ายเงินตอนสุดท้ายได้เลย
- คนขับตีนผี : คุณคิดว่าคนไทยขับรถเหี้ยขนาดไหนไปจอร์เจียอาจจะบวกไปอีก 10 เท่าคนขับที่นี่โดยเฉพาะคนขับรถตู้โดยสารหรือรถแทกซี่เรียกได้ว่าตีนผีมากเวลาพี่เหยียบแทบจะมิดคันเร่งแต่พอพี่เจอเนินลูกระนาดพี่เหยียบเบรคจนรถเกือบหยุด จนมีเพื่อนร่วมทริปเมารถกันเลยทีเดียวแถมถนนออกนอกเมืองส่วนใหญ่เป็นแค่สองเลนสวนกัน (ถนนยังต้องพัฒนาอีกเยอะบ้านเรานี่เรียกว่าดีมากแล้ว) พี่แกขับแซงออกซ้ายตลอด (ที่นี่ขับชิดขวา) แทรกได้แทรกแซงได้แซงขนาดรถบรรทุกสวนมายังกล้าแซงใจหายใจคว่ำกันพอดี ดังนั้นใครเมารถง่าย ก็เตรียมอุปกรณ์ส่วนตัวเล่็กน้อย
- คนจอร์เจียชอบสูบบุหรี่กันมาก สูบได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าที่ไหน ในรถประจำทางก็สูบ ในบ้านก็สูบ แต่ขอบอกว่า บุหรี่จอร์เจียหอมหวาน ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกรำคาญกลิ่นบุหรี่สักเท่าไหร่นัก
- ประเทศจอร์เจีย เป็นประเทศที่เที่ยวแล้วรู้สึกว่าปลอดภัยจาก ขโมย ได้อารมณ์เหมือนเดินเที่ยวกรุงเทพฯ คือแค่ไม่ไปอยู่ในบริเวณที่เปลี่ยวไร้คนเท่านั้นเอง สามารถเดินเที่ยวได้อย่างปลอดภัย สะพายกระเป๋าไว้ข้างหลังอย่างไร้ความกังวล อยู่บนรถไฟฟ้าก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีใครมาตอแยกับเรา (ยกเว้นแทกซี่) ไม่เหมือนกับตอนไปปารีสหรือมิลาน ไปที่ไหนแม่งน่ากลัวไปหมด
- คนเอเชียหัวดำ น่าจะเป็นของแปลกสำหรับคนจอร์เจีย รู้สึกว่าไปทางไหนก็มีแต่คนมอง แม้ว่าประเทศนี้จะเปิดรับนักท่องเที่ยวมากก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพวกยุโรปมากกว่า โดยเฉพาะรัสเซีย คนเอเชียถือว่าไม่มาก และไม่ค่อยมีคนจีน และทัวร์จีน
- รถที่นี่ฝุนเขรอะ ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใดบ้าง แต่รถยนต์ที่ประเทศนี้ ค่อนข้างสกปรกถึงสกปรกมาก เคยคิดว่ารถตัวเองโสโครกแล้ว รถยนต์ของที่นี้เรียกว่าได้ว่าห้ามไปแตะโดน ฝุ่นน่าจะหนาหลายนิ้ว อาจจะด้วยว่าถนนที่ประเทศนี้ยังไม่ดีมากนัก เมื่อออกนอกเมืองถนนเริ่มเป็นดิน แม้จะเป็นฤดูหนาว ก็ตามก็ยังเป็นถนนดินเปียกๆ แฉะๆ เรียกได้ว่า แทบจะหารถที่สะอาดไม่ได้เลย (ยิ่งรถประจำทางหรือรถตู้โดยสาร ยิ่งฝุ่นหนาเตอะ)
- เมืองไร้ไฟแดง ในเมืองหลวง หาไฟแดงยากมาก สามแยกส่วนใหญ่เป็นสามแยกวัดใจ แต่ก็ไม่เห็นจะเกิดอุบัติเหตุกันนัก ไม่มีใครบีบแตรไล่กันด้วย ก็เห็นผลัดๆกันไปได้นะ รถไม่ติดด้วย แปลกดี อาจจะเพราะว่าปริมาณรถในประเทศนี้ มันไม่เยอะมากละมั้ง ซึ่งน้อยมากจริงๆที่จะเห็นไฟแดงในประเทศนี้
– คนขับตีนผี : คุณคิดว่าคนไทยขับรถเหี้ยขนาดไหน ไปจอร์เจียอาจจะบวกไปอีก 10 เท่า คนขับที่นี่โดยเฉพาะคนขับรถตู้โดยสาร หรือรถแทกซี่ เรียกได้ว่าตีนผีมาก เวลาพี่เหยียบแทบจะมิดคันเร่ง แต่พอพี่เจอเนินลูกระนาด พี่เหยียบเบรคจนรถเกือบหยุด จนมีเพื่อนร่วมทริปเมารถกันเลยทีเดียว แถมถนนออกนอกเมืองส่วนใหญ่เป็นแค่สองเลนสวนกัน (ถนนยังต้องพัฒนาอีกเยอะ บ้านเรานี่เรียกว่าดีมากแล้ว) พี่แกขับแซงออกซ้ายตลอด (ที่นี่ขับชิดขวา) แทรกได้แทรก แซงได้แซง ขนาดรถบรรทุกสวนมา ยังกล้าแซง ใจหายใจคว่ำกันพอดี - คนน่ารัก คนจอร์เจีย ส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยได้ แต่ส่วนใหญ่ใจดีมาก เวลาเห็นเรายืนงงๆ ก็เข้ามาถามเข้ามาช่วยเหลือ หรือคุณลุงแทกซี่ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ก็จะไปตามคนแถวนั้นที่เป็นใครก็ไม่รู้มาเป็นล่ามให้ แต่ก็มีหลายๆครั้งที่เรามีปัญหาอยากถามพนังงานประจำสถานที่เที่ยว ได้แต่รับคำตอบว่า No No No การเที่ยวครั้งนี้ เน้นภาษามือเป็นหลัก แถมแนะนำว่าถ้าจะต่อราคาอะไร ทบทวนกันให้ดีว่าเข้าใจตรงกัน เขียนลงกระดาษ กดเครื่องคิดเลข เอายังไงก็ได้ ให้เข้าใจตรงกัน
- หมาน่ารักกว่า นอกจากคนจะใจดีแล้ว หมาที่นี่ยังโคตรไนซ์ ไม่เจอหมาข้างทางที่ขู่จะกัดเหมือนบ้านเราเลย มีบ้านที่เจอมันเห่า แต่ส่วนใหญ่วิ่งมาเล่นด้วย กระดิกหางรัวๆ แถมบางตัวยังเดินเล่นไปเป็นเพื่อนตั้งไกลแนะ เรียกได้ว่า น่ารักตั้งแต่คนยันหมาเลย
- ขยะเพียบ ระเบียบวินัยของประเทศจอร์เจีย มีหลายอย่างที่คล้ายกับประเทศไทย หนึ่งในนั้นคงไม่พ้นเรื่องขยะ ที่นี่ทิ้งขยะกันเรี่ยราด เกลื่อนกลาดมาก อยากทิ้งตรงไหนก็ทิ้ง สถานที่ท่องเที่ยวหลายๆแห่ง ก็จะมีขยะซุกซ่อนตามมุม ตามซอกหลืบมากมาย บางครั้งความสวยงามก็หมดไปกับขยะพวกนี้เนี่ยหละ
- คริสมาสต์ เนื่องด้วยพวกเราเดินทางไปเที่ยวกันวันที่ 25 ธันวาคม ก็ได้หวังว่าอาจจะได้ไปฉลองคริสมาสต์กับชาวคริสต์ แต่แล้วก็ต้องผิดหวัง เมื่อประชาชนชาวจอร์เจียส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ซึ่งวันคริสมาสต์ของชาวออโธดอกซ์นั้น ตรงกับวันที่ 7 มกราคม น่าเสียดายสุดสุด เห็นคนที่นี่เริ่มเตรียมงานกัน คาดว่าวันคริสมาสต์น่าจะน่าสนใจมากทีเดียว
- ออโธดอกซ์ เมื่อพูดถึงคริสต์นิกายออโธดอกซ์แล้ว ถือว่าเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนากันสุดสุด ไปเที่ยวโบสถ์แทบไม่กล้าถ่ายข้างในเลย เพราะเข้าไปก็เจอคนจอร์เจียกำลังทำพิธีกรรมทางศาสนากันอยู่ ถือว่าเป็นความแปลกใหม่ทางศาสนาของจริง เมื่อเข้าไปในโบสถ์ทุกคนจะต้องมีการสวดมนต์ และมีการสัมผัสมกับรูปของพระเยซูและพระแม่มารี(มั้ง) ที่ติดอยู่เต็มไปหมดในโบสถ์ เรียกได้ว่าไม่กล้าขยับตัวไปไหนเลย
- “One minute (มีอีกมากมายสำหรับประเทศจอร์เจีย โดยสรุปแล้วมีหลายๆอย่างที่จอร์เจียคล้ายกับไทย แต่ก็ไม่ทั้งหมดซะทีเดียว ที่นี่มีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย ธรรมชาติก็สวยงาน อากาศก็ดี(มั้ง) คนก็น่ารัก ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ใจเราไปเต็มๆ
Series ชุด [Georgia] ประเทศจอร์เจีย ดินแดนลูกครึ่งยูโรปเอเชีย….
ตอนที่ 1 เตรียมพร้อมออกเดินทาง
ตอนที่ 2 [Day 1] Mtskheta & Gori เมืองแห่งประวัติศาสตร์
ตอนที่ 3 [Day 2] Tbilisi นี่หรือเมืองหลวง